สำนักงาน ป.ป.ช. โดย สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต ร่วมกับ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดกิจกรรม : ประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ STRONG – องค์กรพอเพียงต้านทุจริต ระหว่างวันที่ 7 – 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร และระบบประชุมทางไกลออนไลน์ ขยายผลการดำเนินงานของเครือข่าย STRONG องค์กรพอเพียงต้านทุจริตในหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา สังกัดกระทรวง อว. ตามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจระหว่าง สำนักงาน ป.ป.ช. กับ กระทรวง อว. เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567
ช่วงเช้าของวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมฯ และมอบเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติให้แก่ STRONG องค์กรพอเพียงต้านทุจริต ในหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา จำนวน 26 แห่ง ประกอบด้วย (1) STRONG องค์กรพอเพียงต้านทุจริตต้นแบบ 8 แห่ง และ (2) หน่วยงาน/สถาบันอุดมศึกษา ที่เข้าร่วมเป็น STRONG องค์กรพอเพียงต้านทุจริต 18 แห่ง โดยมีผู้บริหารของหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา เป็นผู้แทนรับมอบเกียรติบัตรดังกล่าว
จากนั้น นายศรชัย ชูวิเชียร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้เกียรติบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ป้องกัน สืบสวน ปราบปราม ยุทธศาสตร์สร้างสังคมไร้สินบน” กล่าวถึงสถานการณ์การทุจริตภายใต้บริบทของหน่วยงาน และภารกิจของ สำนักงาน ป.ป.ช. กับการบูรณาการความร่วมมือกับ กระทรวง อว. รวมถึงกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAAP Law) ที่จะเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านหรือชี้เบาะแสการทุจริตและประพฤติมิชอบและจะได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามกฎหมาย
ในช่วงบ่าย เป็นการเสวนาในหัวข้อ “การขับเคลื่อนองค์กรพอเพียงต้านทุจริต ผสานพลังสร้างวัฒนธรรมโปร่งใส ไร้ทุจริต” โดยผู้เสวนาจากสถาบันอุดมศึกษา 4 แห่ง ได้แก่ (1) รศ. ดร.เอมอร แสนภูวา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (2) อาจารย์ฉัตรกาญจน์ ดรุมาศ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (3) รศ.ดร.สมบูรณ์ ศิริสรรหิรัญ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ (4) ผศ. ดร.ปัณณธร หอมบุญมา อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานขับเคลื่อน STRONG ของแต่ละสถาบันอุดมศึกษาในบริบทที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเครือข่าย STRONG ระดับบุคลากร นักศึกษาและนักเรียนโรงเรียนสาธิต และปิดท้ายกิจกรรมฯ ด้วยการประชุมกลุ่มย่อยรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแผนดำเนินงานขับเคลื่อน STRONG ของหน่วยงานและสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. 2569 รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง
วันที่ 8 กรกฎาคม 2568 ช่วงเช้า เป็นการอภิปรายในหัวข้อ “การเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนองค์กรพอเพียงต้านทุจริต” โดยวิทยากรจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ดังนี้
(1) หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา การยกระดับธรรมาภิบาลกับการขับเคลื่อนองค์กรพอเพียงต้านทุจริต โดย สำนักต้านทุจริตศึกษาและสำนักพัฒนาและส่งเสริมธรรมาภิบาล
(2) กฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและการคุ้มครองหรือช่วยเหลือแก่ผู้แจ้งเบาะแสข้อมูล โดย สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม
(3) งบประมาณสนับสนุนการขับเคลื่อนองค์กรพอเพียงต้านทุจริต โดย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงาน ป.ป.ช.
และในช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอผลการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับแผนดำเนินงาน STRONG องค์กรพอเพียงต้านทุจริตของสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ แผนการจัดกิจกรรม/โครงการ กระบวนการจัดตั้งชมรม/องค์กร และงบประมาณ
โดยมี นายเกษม จิตติวุฒินนท์ เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ สำนักส่งเสริมและบูรณาการการมีส่วนร่วมต้านทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. และ นางสาวบุญจิรา หยุ่มไธสง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ร่วมดำเนินการเสวนา อภิปรายและให้ข้อคิดเห็นแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ
สำนักงาน ป.ป.ช. และ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวง อว. มุ่งหวังให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมฯ นำผลจากการประชุมฯ ไปกำหนดแนวทางในการดำเนินงานและขับเคลื่อน STRONG องค์กรพอเพียงต้านทุจริต กระทรวง อว. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ให้บรรลุตามเป้าหมายต่อไป
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป