5 กรกฎาคม 2568 นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ผตร.อว.) และคณะ ลงพื้นที่ตรวจราชการภายใต้โครงการสำคัญตามนโยบาย “โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ” หรือ “Startup Thailand League 2025” ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. โดยมี ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และคณะ ให้การต้อนรับ และนายปริวรรต วงษ์สำราญ รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม ได้นำเสนอผลการดำเนินโครงการดังกล่าว ณ ห้องประชุม 2 Paragon Hall ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยาม พารากอน กรุงเทพมหานคร
ในการนี้ ผตร.อว. ได้รับฟังการรายงานผลการดำเนินงาน โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม พัฒนาระบบนิเวศ Startup สร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการพัฒนา Startup และสร้างองค์ความรู้ความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา โดยมีผลการดำเนินงานตลอด 9 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2560-2568) สนช. ประสบความสำเร็จในการปลุกปั้น startup จากรั้วมหาวิทยาลัย โดย alumni ของโครงการได้จดทะเบียนธุรกิจการค้าแล้ว จำนวน 90 แห่ง ซึ่งมีการดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจำนวน 85 แห่ง มีรายได้สุทธิรวมกว่า 175 ล้านบาท อีกทั้งโครงการดังกล่าวเป็นต้นแบบของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เนื่องจากได้รับคะแนนการประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการด้านความคุ้มค่าเป็นอันดับ 1 ติดต่อกัน 3 ปีซ้อน (พ.ศ. 2565-2567) ซึ่งมีจำนวนมหาวิทยาลัย นิสิต และนักศึกษาที่ให้ความสนใจและประสงค์เข้าร่วมโครงการเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยในปี 2568 มีมหาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 50 แห่งจากทั่วประเทศ ทั้งนี้ สนช. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับอาจารย์ที่ปรึกษาทีมที่เข้าแข่งขันผ่านการจัดอบรม “Train the Trainer” รวมถึงจัดอบรม “Coaching Camp “ ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อปูพื้นฐานองค์ความรู้ให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกทีม เพื่อให้ทีมที่ขาดความพร้อมด้านนิเวศนวัตกรรม และมีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรด้านเทคโนโลยีต่ำกว่าได้มีโอกาส catched up กับทีมที่มีพื้นฐานดีกว่า ทั้งนี้ ภายหลังการแข่งขันไอเดียธุรกิจในระดับภูมิภาค สามารถคัดกรองทีมเข้าแข่งขันจาก 250 ทีม เหลือ 100 ทีม และ 14 ทีม ตามลำดับ เพื่อเข้ารอบการแข่งขันการนำเสนอแผนธุรกิจ (pitching) ชิงชนะเลิศระดับประเทศ
ในโอกาสนี้ ผตร.อว. ได้กล่าวขอบคุณ สนช. ในการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนานักศึกษาให้มีองค์ความรู้ของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมรุ่นใหม่ และเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการขยายผลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ทั้งในและนอกสังกัด เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของโครงการ โดยการสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อกระตุ้นและสร้างการรับรู้ให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาที่มีศักยภาพกลุ่มใหม่ได้รับการคัดเลือกในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น และเน้นการพัฒนาให้สอดคล้องกับบริบทของกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ตรงเป้าหมาย รวมไปถึงการพัฒนาองค์ความรู้ของความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา โดยการจัดทำหลักสูตร Non-degree ด้านความเป็นผู้ประกอบการ ของ สนช. และศึกษาความเป็นไปได้ในการวางโครงสร้างหลักสูตร ออกแบบเนื้อหารายวิชาให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษา เพื่อให้เชื่อมโยงกับระบบคลังหน่วยกิต ทั้งในระดับสถาบันอุดมศึกษาและระดับชาติ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการเผยแพร่องค์ความรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เผยแพร่ในช่องทาง Thai-Mooc ของโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (คซท.) โดยในอนาคต สนช.อาจทำ MOU ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา เพื่อนำรายวิชาองค์ความรู้ของความเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Mindset) ที่พัฒนาโดย สนช. บรรจุไว้ในหลักสูตรในหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (GenEd) ซึ่งจะเป็นการพัฒนานักศึกษาให้มีองค์ความรู้ของความเป็นผู้ประกอบการ และเป็นการพัฒนากำลังคน สร้างผู้ประกอบการนวัตกรรมรุ่นใหม่ ตามเจตนารมณ์ของโครงการฯ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ข้อมูลข่าวโดย : กลุ่มตรวจราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป