เมื่อวันที่ 8 ก.ค. น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมเสวนาในหัวข้อ “กระทรวง อว. ขับเคลื่อน Soft Power ไทยสู่สากล จากงานวิจัยสู่ชีวิตจริง” ในงานการประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ (SPLASH: Soft Power Forum 2025) ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวง อว. คณะรัฐมนตรี ผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน คณะทูตานุทูตประจำประเทศไทย และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เข้าร่วม ณ เวที Visionary Stage Hall 4 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
น.ส.สุดาวรรณ กล่าวว่า กระทรวง อว. มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและสนับสนุนการสร้าง Soft Power ของประเทศโดยเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนากำลังคนทักษะสูง (High-Skilled Workforce Development) โดยให้สถาบันการศึกษาภายใต้กระทรวง อว. เป็นแกนหลักในการผลิตบุคลากรที่มีทักษะสูงด้าน Soft Power ซึ่งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือ “ด้านอาหารไทย” โดย อว. มีโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย โดยมีเป้าหมายคือ สร้างเชฟอาหารไทยมืออาชีพ 75,000 คน โดยกระทรวง อว. ได้พัฒนาหลักสูตรคุณภาพร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 10 หลักสูตร ทั้งทางออนไลน์และออนไซต์ รวมทั้งสร้างผู้สอนต้นแบบ 225 คน โดยตั้งเป้าหมายให้ได้ 500 คนในปี 2569 รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมในมหาวิทยาลัยกว่า 50 แห่ง และพัฒนาห้องปฏิบัติการอาหารกว่า 115 ห้อง โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2567-2573 เราคาดว่าจะผลิตเชฟอาหารไทยมืออาชีพได้ถึง 75,086 คน ซึ่งเท่ากับจำนวนหมู่บ้านทั่วประเทศ เพื่อให้รสชาติอาหารไทยมีเอกลักษณ์ เข้าถึงง่าย และมีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก อีกด้านหนึ่งคือ “ด้านศิลปะ” อว. มีโครงการ Thai Youth Streets Art โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาและสถาบันอุดมศึกษา 42 แห่งทั่ว 31 จังหวัด ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะบนกำแพงเมืองภายใต้หัวข้อ Dreams of Thailand เพื่อพัฒนาทักษะศิลปะให้กับเยาวชนกว่า 1,200 คน และสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนกว่า 250,000 คน ผลักดันให้เยาวชนเป็นศิลปิน Street Art รุ่นใหม่ที่จะเล่าเรื่องราวของชุมชนและประเทศไทยให้โลกได้รับรู้
2.สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาที่มุ่งเน้น Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดย อว. มีกองทุนและหน่วยงานให้ทุนวิจัยที่เน้น Soft Power อย่างชัดเจน ในระหว่างปี พ.ศ. 2563-2568 มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ 11 อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์รวมกว่า 12,219 งานวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านอาหารและเครื่องดื่ม มีงานวิจัยสูงสุดถึง 7,212 งานวิจัยภาพยนตร์ แอนิเมชัน ละคร มี 1,039 งานวิจัย ซึ่งหน่วยงานให้ทุน อาทิ วช. บพข. บพค. บพท. ที่ต่างมีแผนสนับสนุนงานวิจัยด้าน Soft Power ที่หลากหลายครอบคลุมทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 3.สนับสนุนการใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งบ่มเพาะ Soft Power ที่สำคัญ โดยส่งเสริมการใช้สตูดิโอผลิตสื่อที่มีอุปกรณ์ทันสมัยและห้องปฏิบัติการสร้างสรรค์ สนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อสร้างคอนเทนต์รูปแบบใหม่ รวมทั้งมี Co-working Space เพื่อเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ได้แลกเปลี่ยนไอเดีย และ 4.เปิดพื้นที่และสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งกายภาพ และดิจิทัล เพื่อสร้างโอกาสให้คนได้แสดงออกและสร้างสรรค์ผลงาน ยกตัวอย่างเช่น โครงการดนตรีในสวน H.M. Song อว. บรรเลงเพลงของพ่อโครงการ MHESI MUSIC VARIETY AWARDS เป็นต้น
รมว.อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังผลักดันให้งานวิจัยไม่ถูกเก็บไว้บนหิ้ง แต่มุ่งเน้นงานวิจัยที่นำไปใช้ได้จริงและเข้าถึงประชาชนได้ โดยส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนและภาคอุตสาหกรรม อาทิ ผ้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่เส้นทางสายแฟชั่นแนวหน้าของประเทศ ยกระดับผ้าชุมชนสู่ Chiang Rai Brand และแฟชั่นส่งออก และการท่องเที่ยว ออกแบบหลักสูตรระยะสั้น เช่น การนวด แผนไทย และสปา เป็นต้น
“กระทรวง อว. มุ่งมั่นที่จะนำองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม มาขับเคลื่อน Soft Power ของไทยให้จับต้องได้จริง เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ เปลี่ยนจากงานวิจัยที่เคยถูกมองว่าอยู่บนหอคอยงาช้าง ให้ลงมาสัมผัสกับชีวิตผู้คน สร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างอนาคตให้กับครอบครัวไทยต่อไป” รมว.อว. กล่าว
งาน SPLASH - Soft Power Forum 2025 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) Hall 1-4 ชั้น G และ L2 ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานได้ฟรีตลอดทั้ง 4 วัน ติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook และ Instagram SPLASH Soft Power Forum
ทำข่าว : นางสาวธนิดา วิมลเศรษฐ
ถ่ายภาพ : นายสุรกิจ แก้วมรกต
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
กลุ่มสื่อสารองค์กร
โทรศัพท์ 0 2333 3700
E-mai l: pr@mhesi.go.th
Facebook : MHESIThailand
Instagram : mhesithailand
Tiktok : @mhesithailand
X (Twitter) : @MHESIThailand
YouTube : @MHESIThailand
Call Center 1313
เว็บไซต์นี้ เป็นเว็บไซต์หน่วยงานของรัฐในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการ สป.อว. เพื่อเข้าสู่มาตรฐานการบริหารจัดการภาครัฐ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไร หากท่านพบว่ามีข้อมูลใดๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของสำนักงานปลัดกระทรวง โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุดต่อไป